สาธารณสุขเชียงใหม่ เปิดศูนย์ EOC รับมือไข้เลือดออก

 

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดศูนย์ EOC รับมือไข้เลือดออก หลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นพร้อมเตือน ปชช. หากพบผู้ป่วยมีไข้สูง 2 วันไม่ดีขึ้น มีจุดเลือดออกตามร่างกาย หรือไข้ลดแต่อาการแย่ลง อ่อนเพลีย ซึม ให้รีบพบแพทย์

 

นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก จากการเฝ้าระวังและวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 1,797 ราย เป็นคนไทย จำนวน 1,607 ราย และชาวต่างชาติ จำนวน 190 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ อำเภอฝาง จอมทอง พร้าว ฮอด และอำเภอเชียงดาว ตามลำดับ ซึ่งในขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 5 ราย นอกจากนี้ยังพบการระบาดในหมู่บ้านที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้

ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เปิดศูนย์ EOC โรคไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 โดยมีนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานศูนย์ พร้อมด้วยทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมในการเปิดศูนย์ EOC ครั้งนี้

โดยได้กำหนดมาตรการและข้อสั่งการ ดังนี้
1. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จะประชุมทางไกลทุกสัปดาห์ กับสาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เพื่อควบคุม กำกับ และติดตามการควบคุมโรคในพื้นที่ โดยจะเริ่มประชุมครั้งแรก ในวันที่ 4 กันยายน 2562
2. ให้สาธารณสุขอำเภอ 15 อำเภอที่ควบคุมโรคไม่ได้ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ควบคุมโรคไม่ได้ ลงพื้นที่ควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และห้ามออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น ตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะควบคุมโรคได้ ถ้าจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่ให้ทำหนังสือขออนุญาตสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งๆ


3. จัดทีมลงควบคุม กำกับ และติดตามพื้นที่ 15 อำเภอที่ควบคุมโรคไม่ได้ แบ่งเป็น 4 ทีม โดยมีรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 4 ท่าน เป็นหัวหน้าทีม พร้อมด้วยทีมสหวิชาชีพสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
4. สร้างการรับรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีทีมจากสำนักงานสาธาณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ควบคุม กำกับ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
5. ให้ทุกโรงพยาบาลเร่งทำแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ตึกผู้ป่วยนอก หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะสามารถนำผู้ป่วยรักษาพยาบาล และส่งต่อได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ขอแนะนำประชาชนหากพบเห็นผู้ป่วยมีไข้สูง 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ซึมลง มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ตับโต กดบริเวณชายโครงผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ หรือไข้ลดแล้วแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ขอให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ห้ามซื้อยารับประทานเอง และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิก ไม่ให้จ่ายยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS: Nonsteroidal anti-inflammatory drug) เช่น แอสไพริน บรูเเฟน ในผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก เพราะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น

รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน จิตอาสา ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยให้แต่ละบ้านสำรวจจุดเสี่ยงแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายที่พบบ่อย เช่น ภาชนะที่ถูกทิ้ง จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่าไม่ให้มีน้ำขัง และโอ่งใส่น้ำที่ไม่มีฝาปิดด้วย

นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่

Related posts