TIJ จัดเวทีสาธารณะนำเสนอความยุติธรรมผ่านมุมมองประชาชน สานพลังมนุษยธรรม…สร้างสรรค์ความยุติธรรม

กรุงเทพฯ 23 สิงหาคม 2562 – ‘ความเป็นธรรมและสังคมที่เสมอภาค’ เป็นสิ่งที่ผู้คนแสวงหามาทุกยุคสมัย แต่การสร้างกระบวนการยุติธรรมที่อำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้มุมมองที่ครอบคลุมทุกด้านของการดำรงชีวิตมนุษย์ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงจัดการประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 8 (The 8th TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development) ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “สานพลังมนุษยธรรม…สร้างสรรค์ความยุติธรรม (Humanizing Approach for Better Justice)” ซึ่งกิจกรรมเวทีสาธารณะดังกล่าว ถือเป็นบทสรุปของการอบรมหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) รุ่นที่ 3

โดยมีจุดเน้นในการนำเสนอประสบการณ์ความยุติธรรมผ่านมุมมองของประชาชน การสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาด้านมนุษยธรรมที่จะมีส่วนช่วยให้กระบวนการยุติธรรมอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน และที่สำคัญ การทำให้เรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมจะสามารถสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่ผสมผสานหลักการด้านประสิทธิภาพ มุมมองการบริหารเชิงธุรกิจเพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลมาประยุกต์ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาว อันจะส่งผลให้เป็น “ความหวัง” ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมไทย

“ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน (Justice is Everyone’s Matters)” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อธิบายว่า “ความยุติธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของระบบหรือกระบวนการเพียงอย่างเดียว หากแต่
ความยุติธรรมอยู่รอบตัวเรา เมื่อปรับมุมมองความยุติธรรมมามองผ่านเลนส์ของความเป็นมนุษย์ เราจะเห็นแนวทางของความเป็นธรรมที่ชัดเจนขึ้น ระบบยุติธรรมที่ดีขึ้นสามารถสร้างได้ ถ้าเราเชื่อในความหมายของมนุษย์ หากระบบยุติธรรมออกแบบโดยเคารพสิทธิมนุษยชน หรือ ออกแบบโดยคำนึงถึงหลัก “มนุษยธรรม” หรือ “ความเป็นมนุษย์” ก็อาจทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์เข้าใจปัญหาสังคมในแง่มุมต่างๆ ชัดเจนขึ้น และหลักดังกล่าวก็อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืนได้”

ไฮไลท์ของเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 8 นี้ TIJ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น คุณทิชา ณ นคร หรือป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม มาแลกเปลี่ยนในประเด็น “ความยุติธรรมด้วยพลังมนุษยธรรม” รวมทั้งยังมีผู้นำจากหลากหลายภาคส่วน มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความไม่ยุติธรรมในประเด็น “เรื่องเล่าความยุติธรรม จากสายตาประชาชน” ได้แก่ คุณกิตติ สิงหาปัด คุณสิรินยา บิชอฟ ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร และ คุณนุสรา บัญญัติปิยพจน์ คุณพิพัฒน์พงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา และ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

รวมถึงคุณเทพชัย แซ่หย่อง ที่มาร่วมนำเสนอประเด็น “ความหลากหลายที่สร้างสรรค์ สู่นวัตกรรมเพื่อสังคม” นอกจากนี้ยังมีช่วงการเสวนาของผู้บริหารที่ผ่านหลักสูตร RoLD รุ่นที่ 3 ที่จะมานำเสนอ 3 ประเด็นหลัก คือ “ครอบครัวที่พักพิงอันปลอดภัย” “ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาสการจ้างงานดิจิทัล” และ “เยาวชนกับวัฒนธรรมการเคารพกติกาและระบบศึกษาภิบาล” โดยประเด็นดังกล่าวถูกวิเคราะห์ผ่านมุมมองด้านมนุษยธรรมเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนแนวคิดในการสร้างการมีส่วนร่วมแก่เยาวชนเพื่อปลูกฝังค่านิยมการเคารพกติกา (Culture of Lawfulness)

TIJ มุ่งหวังว่า ประเด็นต่างๆ ที่อภิปรายแลกเปลี่ยนกันในเวทีสาธารณะครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้ทุกคนเห็นความสำคัญของหลักนิติธรรม ความเป็นมนุษย์ และความพยายามในการแก้ไขปัญหาสังคมโดยไม่ต้องรอกระบวนการเท่านั้น ดังที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ย้ำว่า “การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องรอแก้กฎหมาย หรือการปฏิรูป เมื่อเรายึด “คน” เป็นศูนย์กลาง และเริ่มแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของความเป็นมนุษย์
เราจะเห็นว่าสังคมมีมากกว่ามิติเดียว ดังนั้น “ความร่วมมือ และ พลังจากคนทุกคน” จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะท้อนภารกิจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายบุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มิได้จำกัดอยู่ในวงของนักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยังเป็น Promoter of Changes ที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำหลักนิติธรรมมาปรับใช้ในสังคม เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

 

Related posts