เชียงใหม่/ เปิดเวทีการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ 2562 รอบชิงชนะเลิศภูมิภาค ภาคเหนือ
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=c9JNSYj1RZs[/embedyt]
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ที่ เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานเปิดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ 2562 รอบชิงชนะเลิศภูมิภาค ภาคเหนือ ประจำปี 2562 (WRO2019: World Robot Olympiad 2019)ภายใต้หัวข้อ “SMART CITIES” มีรองศาสตราจารย์ ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวต้อนรับ มี นางสาวนวลวรรณ ชะอุ่ม ประธานโครงการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ประเทศไทย กล่าวรายงาน
นายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ประจำปี 2562 รอบชิงชนะเลิศภูมิภาค ภาคเหนือ ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับบริษัทแกรมมาโก้(ประเทศไทย)จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจได้ขยายขอบเขตความรู้ของตน โดยการออกแบบสร้างสรรค์หุ่นยนต์รวมถึงการสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับหุ่นยนต์และส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
อีกทั้งเป็นเวทีแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและผู้ที่สนใจให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสมไปใช้ ซึ่งจะช่วยให้พัฒนาเทคโนโลยี การศึกษา การประกอบอาชีพแบะธุรกิจได้ นับได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้อีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เยาวชนไทยได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี มีกรอบและทิศทางเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการแข่งขันในครั้งนี้จะลุล่วงไปด้วยดี และขอให้นักเรียน นักศึกษาได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมโครงการ
นางสาวนวลวรรณ ชะอุ่ม ประธานโครงการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ มีการแข่งขันทั่งสิ้น4ภูมิภาคและจะมีการจัดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศประเทศไทย เพื่อคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทย ไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ WRO ระดับนานาชาติ ณ เมืองเยอร์ ประเทศฮังการี
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้นักเรียนและเยาวชน ทั้งระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างมิตรภาพในฐานะผู้นำแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มพูนวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน ให้คิด วิเคราะห์ ประดิษฐ์สามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทักษะ ความคิดริเริ่มในการพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาวงการอุตสาหกรรม การก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ต่อไปในอนาคต
เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ในการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะของเยาวชน รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และรู้จักค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นเวทีการแข่งขันและสร้างความสนใจให้กับเยาวชน รวมถึงบุคคลทั่วไป ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการเตรียมความพร้อม สู่ศตวรรษแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ รอบชิงชนะเลิศภูมิภาค ภาคเหนือ ประกอบด้วย การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติประเภททั่วไป รวมทั้งสิ้น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี มีจำนวนทีมที่เข้าร่วมทั้งสื้น 20 ทีม รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 28 ทีม และรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี จำนวน 32 ทีม รวมจำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 80 ทีม บรรยากาศคึกคัก มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันและร่วมชมในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน
นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่