อย. สหรัฐเผยตัวเลขวัยรุ่นใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอเมริกาลดลง 2 ปีต่อเนื่อง
ผลสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นของสหรัฐอเมริกา พบการใช้ลดลงในช่วงปี 2563-2564 ถึง 42% และช่วงปี 2562-2563 ลดลง 29% ทำให้อัตราลดลงถึง 60% ภายใน 2 ปี สวนทางกับข้อมูลของกลุ่มรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่อ้างข้อมูลเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้า 27.5% ของปี 2562 โดยไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งหมด เชื่อไทยจะป้องกันเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ ถ้านำเอามาควบคุมให้เหมาะสม
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ” และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิดเผยว่า “กรมควบคุมโรค และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเพิ่งเปิดเผยตัวเลขการสำรวจระดับชาติเรื่องการบริโภคยาสูบในเยาวชนอเมริกัน ปรากฏว่าจำนวนวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดลงอย่างมากติดต่อกันเป็นที่สอง โดยในปี 2564 นี้ มีรายงานว่ามีนักเรียนชั้นมัธยมใช้บุหรี่ไฟฟ้า 11.3 % ลดลงจากปีก่อนที่ 19.6% และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเคยสูงถึง 27.5% ขณะที่วัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทุกวันมี 3.1% ตรงข้ามกับข้อมูลของกลุ่มรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่อ้างแต่ข้อมูลปี 2562 ที่ 27.5% เพื่อทำให้ผู้กำหนดนโยบายและสังคมไทยเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้วัยรุ่นในอเมริกานิยมใช้มากเพื่อที่จะได้แบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป”
“แม้ว่าการสำรวจจะทำแบบออนไลน์เพราะโรงเรียนปิดช่วงโควิดซึ่งอาจมีผลต่อการสำรวจ แต่ผมมองว่าที่เป็นสัญญาณที่ดีเป็นแนวโน้มที่ดีที่แสดงว่าเมื่อรัฐบาลอเมริกาหันมาจริงจังกับปัญหานี้ก็สามารถควบคุมได้ โดยไม่ไปตัดสิทธิผู้ใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า เช่นบุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่าเขาจะกังวลเรื่องเด็กและเยาวชนแต่ก็ไม่ได้แบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนไทย แต่เขาเลือกแก้ปัญหาโดยการออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดขึ้น มีการแจ้งเตือน ควบคุมการใช้และการจำหน่าย รวมถึงควบคุมการโฆษณาและการออกรสชาติที่อาจจะดึงดูดเยาวชน เช่น รสลูกกวาดและขนม หลังจากนั้นก็พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนลดลง แต่ของไทยวันนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย คุมอะไรไม่ได้เลย เด็กสั่งออนไลน์ได้ของมาส่งถึงบ้านโดยไม่ต้องตรวจบัตรประชาชน”
ขณะเดียวกัน รายงานการสำรวจในประเทศอังกฤษที่จัดทำโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ของอังกฤษ (ASH UK) ที่ระบุว่า ในปี 2564 11.2% เยาวชนอายุระหว่าง 11-17 ปีเคยลองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งลดลงจาก 13.9% ในปี 2563 รายงานของ ASH UK ยังย้ำด้วยว่าเด็กส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่เคยลองสูบบุหรี่ อาจจะเคยลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำยังคงต่ำอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการติดตามและควบคุมให้เหมาะสม
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายอีกคนกล่าวเสริมว่า “สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเลือกใช้วิธีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย ทำให้สามารถลดจำนวนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กลงได้ ยกตัวอย่างเช่น อย. อเมริกา ที่เพิ่งอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งขายในประเทศได้ แต่ก็มีข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาทางออนไลน์หรือสื่อทีวี และให้ส่งข้อมูลการขายให้กับ อย. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการหาทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าก็ยังเข้าถึงได้ ส่วนประเทศไทยกลับเลือกที่จะแบน เท่ากับบังคับให้ผู้สูบบุหรี่ต้องสูบบุหรี่มวนต่อไป แล้วยังเป็นการเปิดช่องให้เด็ก ๆ หาซื้อใช้ได้โดยที่ภาครัฐควบคุมอะไรไม่ได้เลย”
“การอ้างว่าบ้านเราไม่มีความพร้อมในการควบคุมยาสูบจึงจำเป็นต้องแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ทั้งที่มีรณรงค์งดสูบบุหรี่มานานกว่า 30 ปี แสดงว่าการรณรงค์ในประเทศเราที่ผ่านมาไม่เคยประสบผลสำเร็จเลย และยังไม่คิดที่จะศึกษาแนวทางของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป อเมริกา นิวซีแลนด์ หรือญี่ปุ่น ที่ควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กได้ดี หากเราไม่คิดจะพัฒนาแนวทางของบ้านเรา ก็น่าเป็นห่วงว่าเราจะป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างไร” นายอาสากล่าวสรุป