EA ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.อ.เป็นศูนย์กลางนำร่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และบูรณาการการท่องเที่ยวภาคใต้ นำ PSU COVID -19 และแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มาต่อยอด

EA ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.อ.เป็นศูนย์กลางนำร่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และบูรณาการการท่องเที่ยวภาคใต้ นำ PSU COVID -19 และแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มาต่อยอด

 

​เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (6 มิ.ย. 2563) ภายหลังจากการแถลงข่าว “มอบเครื่องกรองอากาศและอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้แก่ โรงพยาบาล 14 จังหวัดภาคใต้” ณ ห้องประชุม 1 สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ให้การต้อนรับ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA

พร้อมด้วย ดร.ประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) และคณะทีมงานจาก”กลุ่มช่วยกัน” เดินทางไปเยี่ยมชม อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อว.ม.อ.) พร้อมร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาของเหล่าคณาจารย์จากคณะต่างๆ เพื่อร่วมผลักดันแผนบูรณาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของ 14 จังหวัดในภาคใต้

​ดร.ประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า ในเฟสแรกทาง “กลุ่มช่วยกัน” นำโดย กลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะนำร่องความร่วมมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายหลังจากไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี จนรัฐประกาศผ่อนคลายมาตรการลงเป็นลำดับ ทำให้กิจกรรมต่างๆ และการใช้ชีวิตของประชาชนเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง และเริ่มการฟื้นฟูสภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เพื่อกลับมาทำงาน ตลอดจนการเดินทางเข้าออกระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ที่มีการเดินทางของประชาชนและขนส่งชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ “กลุ่มช่วยกัน” และ IBERD จึงได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อเตรียมนำชุดตรวจ PSU COVID -19 มาใช้คัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงซึ่งจะสามารถรู้ผลการตรวจได้ภายใน 15 นาทีและมีความแม่นยำสูง โดยนำมาบูรณาการร่วมกับการทำงานของแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้พิจารณาความเสี่ยงของทั้งตัวบุคคลและสถานที่ จึงทำให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


​“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.อ. จะเป็นศูนย์กลางและต้นแบบในการขับเคลื่อน ให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการในภาคใต้ 14 จังหวัด แสดงความจำนงค์เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้หลายๆ ธุรกิจ ได้เปิดทำการได้อย่างมั่นใจในความปลอดภัย เช่น โรงแรมที่เป็นสถานกักกันผู้มีความเสี่ยงที่เดินทางจากต่างประเทศ การจัดให้สถานที่ท่องเที่ยวเป็น Health Care Center โดยมีการใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็น eHealth Passport เพื่อคัดกรองและประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ร่วมกับใช้ชุดตรวจ PSU COVID -19 เราจะสามารถรู้ได้ภายใน 15 นาทีเลยว่า ผู้ใดมีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID 19 หรือไม่ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีต่อการฟื้นสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนในภาคใต้ 14 จังหวัด”ดร.ประพลกล่าว

​ในเฟสที่สอง อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.อ.เป็นศูนย์กระจายความรู้และการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ในการนำงานวิจัยและพัฒนามาต่อยอดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมันที่สามารถนำไปผลิตไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานต่างๆ หรือการพัฒนาพลังงานธรรมชาติต่าง ๆ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของ 14 จังหวัดภาคใต้ มาต่อยอดร่วมกับ SME และกับพี่น้องประชาชนทางภาคใต้ จะก่อให้เกิดเป็นแผนการพัฒนา โดยโครงการนี้ ต้องการผลักดันเศรษฐกิจ 14 จังหวัดภาคใต้ ให้มีความ ” มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ” ตลอดไป

Related posts